ยุคสมัยเก่าของไทย
สมัยลพบุรี ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่พื้นที่ประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลักฐ่านสำคัญที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าอำนาจทางการเมืองของเขมรเข้ามาสู่ดินแดนไทย คือ ศาสนสถานทั้งที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน รวมทั้งศิลาจารึกต่างๆ ที่มีการระบุชื่อกษัตริย์เขมรว่าเป็นผู้สร้างหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง วัฒนธรรมเขมรที่แผ่ขยายเข้ามาทำให้สังคมเมืองในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ เช่น การก่อสร้างบ้านเมืองมีแผนผังแตกต่างไปจากเดิม คือ มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเพียงชั้นเดียวแทนที่จะสร้างเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หรือเมืองรูปวงกลม วงรี ซึ่งมีคูน้ำหลายชั้น มีระบบการชลประทานเพื่อการบริหารน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวแบบนาดำ และมี “ บาราย ” หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๘ อาณาจักรเขมรได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนไทยมากขึ้น ปรากฏโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเขมรโดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกือบทั่วภาคอีสาน ลึกเข้ามาถึงภาคกลางและภาคตะวันตก โดยภาคกลางของประเทศไทยมีเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบนี้อยู่มาก ดังนั้นในเวลาที่ผ่านมาจึงกำหนดชื่อเรียกอายุสมัยของวัฒนธรรมที่พบในประเทศไทยว่า “ สมัยลพบุรี ” หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นต้นมา อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมเขมรก็เสื่อมโทรมลงจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายลงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากการแพร่หลายเข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และเมืองในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำยมเริ่มมีความเข้มแข้งมากขึ้น สถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
อ้างอิงรูป http://www.thaigoodview.com/files/u40985/pppppp.jpg
อ้างอิงรูปภาพ http://upic.me/i/kq/vzzzz.jpg
สมัยสุโขทัย ดินแดนในเขตลุ่มแม่น้ำยมมีชุมชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ยาวนานมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในศิลาจารึกวัดศรีชุม มีข้อความที่พอจะสรุปได้ว่าประมาณปี พ.ศ.๑๗๕๐ เมืองสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีนาวนัมถม” เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงขอมสบาดโขลญลำพงได้เข้ามายึดครองสุโขทัย ต่อมาเมื่ออำนาจเขมรที่มีเหนือแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนล่างและตอนบนเสื่อมลงในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนัมถม ได้ร่วมกันต่อสู้ขับไล่โขลญลำพงจนสามารถรวบรวมดินแดนกลับคืนมาได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๗๑๘ พ่อขุนบางกลางหาวสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทรบดินทราทิตย์” ขึ้นครองเมืองสุโขทัยซึ่งต่อมามีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาทั้งสิ้น ๑๐ พระองค์ การนับถือศาสนาของคนในสมัยสุโขทัย พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักทั้งหินยานและมหายาน นอกจากนั้นยังมีศาสนาฮินดูและความเชื่อดั้งเดิม โดยพุทธศาสนาแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์ได้รับการยอมรับมากจนเป็นศาสนาประจำอาณาจักร รองลงมาคือ การนับถือผี หรือ พระขะผุงผี อันถือว่าเป็นผีที่ยิ่งใหญ่มากกว่าผีทั้งหลายในเมืองสุโขทัย นิกายมหายาน และศาสนาฮินดู ตามลำดับในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมาก มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการวางรากฐานอารยธรรมไทย คือ การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งได้ทรงนำแบบแผนของตัวหนังสืออินเดียฝ่ายใต้ โดยเฉพาะตัวอักษรคฤหณ์มาเป็นหลักในการประดิษฐ์ตัวอักษร โดยทรงพิจารณาเทียบเคียงกับตัวอักษรของเขมรและมอญ ศิลปกรรมในสมัยสุโขทัยที่โดดเด่นมากที่สุดได้แก่ งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปซึ่งมีรูปแบบที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริง ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปของสุโขทัยรุ่งเรืองและสวยงามมากในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระศรีศากยมุนี และพระพุทธชินสีห์ เป็นต้น งานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสมัยสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่สำคัญๆ ในเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลงจากการแย่งชิงการสืบทอดอำนาจการปกครอง ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเมืองที่เข้มแข็งขึ้นในเขตภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขยายอำนาจขึ้นมา จวบจนปี พ.ศ.๑๙๒๑ รัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา สุโขทัยจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา โดยมีกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชปกครองมาจนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๑ จึงหมดสิ้นราชวงศ์
สมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ “ พระเจ้าอู่ทอง ” ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลางเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสรรคบุรี เป็นต้น แล้วสถาปนาเมืองพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางอันมีแม่น้ำสำคัญสามสายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งรับข้าศึกศัตรู และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว กรุงศรีอยุธยาดำรงฐานะราชธานีของไทย เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง การค้า และศิลปวัฒนธรรมในดินแดนลุ่มเจ้าพระยายาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๐๑ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจึงได้ถูกทำลายลงในระหว่างสงครามกับพม่า สังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสังคมศักดินา ฐานะของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน “ เทวราชา ” เป็นสมมติเทพ มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมในระบบ “ เจ้าขุนมูลนาย ” ทำให้เกิดความแตกต่างของฐานะบุคคลอย่างชัดเจน รวมถึงพระสงฆ์ก็มีการกำหนดศักดินาขึ้นเช่นเดียวกัน ในการปกครองถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยจะทรงแบ่งอาณาเขตออกเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้วทรงมอบหมายให้ขุนนางไปครองที่ดินรวมทั้งปกครองผู้คนที่อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้นด้วย ดังนั้นที่ดินและผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง พระมหากษัตริย์ทรงผูกขาดการค้าขายสินค้าในระบบพระคลังสินค้า สิ่งของต้องห้ามบางชนิดที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรสามัญธรรมดาไม่สามารถจะมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ จะต้องส่งมอบหรือขายให้กับพระคลังสินค้าในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้า และหากพ่อค้าต่างชาติต้องการจะซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ต้องติดต่อโดยตรงกับพระคลังสินค้า ในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้าเช่นเดียวกัน การที่พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยทางด้านการค้าและทรงรับเอาชาวจีนที่มีความชำนาญทางด้านการค้ามาเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระคลังสินค้าของไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่า ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกไกล รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่มามาจากการเก็บภาษีโดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งไว้สำหรับเลี้ยงดูบำรุงความสุขและเป็นบำเหน็จตอบแทนพวกขุนนางและเจ้านายซึ่งเป็นผู้ปกครอง ส่วนที่เหลือก็อาจจะใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมารุกราน หรืออาจจะใช้สำหรับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นต้น ส่วนการทำนุบำรุงท้องถิ่น เช่น การขุดคลอง การสร้างถนน การสร้างวัด ก็มักจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานจากไพร่ทั้งสิ้น ในด้านศิลปกรรม ช่างฝีมือในสมัยอยุธยาได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้น โดยการผสมผสานวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ศิลปะลพบุรี ศิลปะอู่ทอง และศิลปะจากชาติต่างๆ เช่น จีนและชาติตะวันตก ทำให้เกิดรูปแบบ “ ศิลปะอยุธยา ” ขึ้น ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงปราสาทราชวังโบราณในสมัยอยุธยา อันปรากฏเด่นชัดอยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
สมัยธนบุรี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ราษฎรไทยที่เหลือรอดจากการถูกกวาดต้อนตามเขตแขวงรอบๆ พระนครต่างก็ซ่องสุมผู้คน เข้ารบราฆ่าฟันเพื่อป้องกันตนเองและแย่งชิงเสบียงอาหารเพื่อความอยู่รอด กรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพจลาจล บ้านเมืองแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า มีชุมนุมที่คิดจะรวบรวมผู้คนเพื่อกอบกู้เอกราชถึง ๖ ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมสุกี้พระนายกอง ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระเจ้าตาก ซึ่งต่อมาชุมนุมพระเจ้าตากสินเป็นกลุ่มกำลังสำคัญที่มีที่สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ โดยตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกขับพม่าออกไปได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯให้ ปรับปรุงเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมวิไชเยนทร์สถาปนาขึ้นเป็นราชธานี โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับและศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการและชัยภูมิที่ดีทางยุทธศาสตร์ ขนาดของเมืองพอเหมาะกับกำลังไพร่พลและราษฎรในขณะนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมสมัยธนบุรียังคงดำเนินรอยตามรูปแบบของอยุธยา ฐานะของพระมหากษัตริย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังยึดขัตติยราชประเพณีตามแบบฉบับของกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จำเป็นที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างประเทศ ด้วยราคาแพงเพื่อบรรเทาความขาดแคลน มีผลทำให้พ่อค้าชาวต่างประเทศบรรทุกข้าวสารลงเรือสำเภาเข้ามาค้าขายเป็นอันมาก ทำให้ราคาข้าวสารถูกลงและปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ นอกจากนั้นยังทรงใช้ให้บรรดาขุนนางข้าราชการขวนขวายทำนาปีละ ๒ ครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอแก่ความต้องการ เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั้งปวง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ในด้านการค้าชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งค้าขาย และทำมาหากินในราชอาณาจักรได้มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาณาจักรธนบุรี ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สมัยธนบุรีเป็นสมัยของการฟื้นฟูชาติบ้านเมือง ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสังฆมณฑลตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น ทรงจัดการชำระคณะสงฆ์ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลวัตร สร้างซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม แสวงหาพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมความรู้มาตั้งเป็นพระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาสปกครองสงฆ์และสั่งสอนปริยัติธรรมและภาษาไทย ส่งพระราชาคณะไปเที่ยวจัดสังฆมณฑลตามหัวเมืองเหนือ เพราะเกิดวิปริตครั้งพระเจ้าฝางตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามทั้งๆที่เป็นพระสงฆ์ และทรงรวบรวมพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ครบถ้วน ศิลปกรรมต่างๆจึงยังคงดำเนินตามแบบอยุธยา เนื่องจากระหว่างรัชกาลมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลาทำให้ช่างฝีมือไม่มีเวลาในการที่จะสร้างสรรค์งานด้านศิลปะให้ก้าวหน้าออกไปจากเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์อยู่เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี เนื่องจากทรงมีพระราชภาระกิจทั้งทางด้านการกอบกู้บ้านเมืองซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะการสงคราม และปกป้องบ้านเมืองซึ่งข้าศึกได้ยกเข้ามาตลอดรัชกาล ปลายรัชกาลได้ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงได้รับอัญเชิญให้ครองราชย์สมบัติ
สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ โปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี การสร้างพระนครเริ่มขึ้น ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ เมื่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ” เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันจำนวน ๙ พระองค์ สภาพกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประชากรของประเทศยังคงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด สังคมความเป็นอยู่ยังคงยึดถือสืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการจัดระเบียบทางสังคมด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ผลิตสินค้าเกษตร จำพวกน้ำตาล พริกไทย และหาของป่าจำพวกไม้สัก ไม้พยุง ไม้กฤษณาและไม้ฝาง การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคและส่งออกขายเฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภคแล้วเท่านั้น เนื่องจากบ้านเมืองยังคงตกอยู่ในสภาวะสงคราม การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการทำการค้ากับประเทศจีน อยู่ภายใต้ความควบคุมของพระมหากษัตริย์โดยมีกรมพระคลังสินค้าเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการค้า ต่อมามีการเซ็นสัญญาบาวริงในปี พ.ศ.๒๓๙๘ การผูกขาดทางการค้าถูกทำลาย ระบบการค้าเสรีเริ่มเกิดขึ้นและขยายกว้างขวางออกไปทำให้การค้าขายเจริญมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อซื้อขายกับไทยอย่างมากมาย เช่น อังกฤษซึ่งเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ปรัสเซีย สวีเดน รุสเซีย เป็นต้น ข้าว ได้กลายเป็นสินค้าสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆรวมถึงสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านสังคมในปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคม เป็นสังคมระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางด้านกฎหมาย ในด้านการศาสนาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว วัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนาถูกทำลายเสียหายเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ทำนุบำรุงพระศาสนา โปรดฯให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระนคร แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทร์มาประดิษฐานเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและให้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรม ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ยังคงใช้แบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรโดยนับเป็นข้าราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ คือ คณะเหนอ คณะใต้ คณะกลางและคณะอรัญวาสี เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย ได้ทรงประกาศประดิษฐานนิกายธรรมยุติขึ้นในพุทธศาสนาศิลปกรรมในด้านต่างๆ ยังคงเลียนแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างพระพุทธรูปส่วนมากสร้างขึ้นตามแบบพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มากขึ้น และมักสร้างเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย์และสาวกที่ครองผ้าอุตราสงค์เป็นลายดอก ส่วนสถาปัตยกรรมในตอนแรกยังคงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงนิยมศิลปะแบบจีนทำให้เกิดศิลปะผสมผสานระหว่างไทยจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา อิทธิพลของชาติตะวันตกได้เข้ามาสู่ประเทศไทยทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมกลายเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://zeeprae.wordpress.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/
#เพื่อความรู้ของเยาวชนไทย ^^
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น