ประกาศวันสอบปลายภาค มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2559 ระหว่างวันที่ 29พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2559

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ตามรอยประวัติศาสตร์ฉบับที่สอง....อารยธรรมอียิปต์ 

      

อารยธรรมที่มีความยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลกที่มีถิ่นกำเนิดในดินแดนใกล้เคียงกับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย คือ อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรมอียิปต์เป็นอารยธรรมที่รู้จักกันอย่างกว้างขว้างและมีผลต่อพัฒนาการทางความคิดในหลายๆ ด้าน เนื่องจากมีมรดกทางสถาปัตยกรรม เช่น ปิรามิดและแนวความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาอีกด้วย

อียิปต์โปราณตั้งอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก โลกตะวันตกคือดินแดนที่อยู่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนโลกตะวันออก ได้แก่ ดินแดนเมโสโปเตเมียและดินแดนในแถบลุ่มแม้น้ำสินธุ ทิศเหนือของอียิปต์จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนทิศตะวันตกติดกับทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายลิเบีย และทะเลทรายนูเบียทางทิศตะวันออก ถัดไปคือ ทะเลแดง ทิศใต้จรดประเทศนูเบียหรือซูดานในปัจจุบัน อียิปต์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ แม่น้ำไนล์มีลักษณะที่ต่างไปจากแม่น้ำอื่นๆ คือ ทอดตัวไหลจากภูเขาทางตอนใต้ลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือ มีผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ มีนคือเส้นทางคมนาคมสายหลักและเป็นเสมือนเข็มทิศในการเดินทาง โดยใช้ร่วมกับทิศทางการขึ้นและตกของดาวอาทิตย์ ชาวอียิปต์แบ่งช่วงแม่น้ำไนล์เป็น 2 ช่วง คือ ต้นน้ำทางตอนใต้เรียกว่า “อียิปต์บน” (Upper Egypt) และปลายแม่น้ำในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทางเหนือว่า “อียิปต์ล่าง” (Lower Egypt)



แผนที่อียิปต์โบราณ


ประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าเมเนส (Menes) หรือนาเมอร์ (Narmer) สามารถรวบรวมเมืองต่างๆ ทั้งในอียิปต์บนและอียิปต์ล่างเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน และตั้งเมืองเมมฟิส (Memphis) เป็นเมืองหลวง ประวัติศาสตร์ของอียิปต์ยุคราชวงศ์จึงเริ่มต้นขึ้น ประวัติศาสตร์ของอียิปต์อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ดังนี้
ยุคราชวงศ์เริ่มแรก อยู่ในช่วง 3100-2686 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มตั้งแต่พระเจ้าเมเนส รวบรวมเมืองต่างๆ ได้ทั้งในอียิปต์ล้างและอียิปต์บนเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน และเข้าสู่ราชวงศ์ที่ 1 และ 2 ยุคนี้เป็นยุคการสร้างอียิปต์ให้มีความเป็นปึกแผ่นเข็มแข็ง
ยุคราชวงศ์เก่า อยู่ในช่วง 2686-2181 ก่อนคริสตกาล โดยเริ่มจากราชวงศ์ที่ 3 อียิปต์ประสบความวุ่นวายทางการเมือง มีการย้ายเมืองหลวงไปตามเมืองต่างๆ แต่หลังจากนั้นก็มีราชวงศ์อียิปต์ปกครองต่อมาอีก 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงษ์ที่ 9 และ 10 ในยุคนี้อียิปต์มีฟาโรห์ปกครองเริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 3 ถึงราชวงศ์ที่ 6 ราชวงศ์ที่โดดเด่นในสมัยนี้คือ ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งมีการสร้างปิรามิดที่ยิ่งใหญ่มากมายโดยเฉพาะมหาปิรามิดของฟาโรห์คูฟูที่เมืองเซห์ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง และการสร้างสรรค์ความเจริญในยุคนี้ได้เป็นรากฐานและแบบแผนของความเจริญของอียิปต์ในสมัยราชวงศ์ต่อๆ มา

สฟิงซ์ (Sphinx)

มหาปิรามิดแห่งกีซา (Giza) ของฟาโรห์คูฟู (Khufu)
ยุคราชวงศ์กลาง อยู่ในช่วง 2,040-1,782 ปีก่อนคริสตกาล ระหว่างราชวงศ์ที่ 11-13 ฟาโรห์ที่มีบทบาทในการสร้างความรุ่งเรืองให้กับอียิปต์ในยุคนี้คือ อเมนเนมเฮตที่หนึ่ง (Amenemhet I) จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอียิปต์ด้านเศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม การสร้างคลองติดต่อไปถึงทะเลแดง การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ วรรณคดีทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง ยุคนี้เป็นช่วงเดียวกันกับอารยธรรมบาบิโลนของพระเจ้าฮัมมูราบี แต่ความรุ่งเรืองของอียิปต์ก็หยุดชะงักลงจากการรุกรานของกลุ่มชนปศุสัตว์เร่ร่อนคือ พวกฮิกโซส (Hyksos) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ายึดครองซีเรีย ปาเลสไตน์ และเอเชียไมเนอร์ได้แล้ว เพราะพวกฮิกโซสมีความเก่งกาจในการรบกว่าชาวอียิปต์ ทำให้สามารถครอบครองอียิปต์ไว้ได้ตั้งแต่ 1,670-1,570 ปีก่อนคริสตกาล แต่เนื่องด้วยอียิปต์มีความเจริญที่เหนือกว่า พวกฮิกโซสจึงเป็นฝ่ายรับความเจริญไปจากอียิปต์ จึงทำให้อารยธรรมอียิปต์ไม่ขาดความต่อเนื่องแต่อย่างใด
ยุคราชวงศ์ใหม่ อยู่ในช่วง 1,570-332 ก่อนคริสตกาล ระหว่างราชวงศ์ที่ 18-31 เมื่อ ชาวอียิปต์ได้ก่อกบฏและมีชัยเหนือชาวฮิกโซส จึงเริ่มราชวงศ์ที่ 18 และขยายอำนาจการปกครองไปยังดินแดนซีเรีย ปาเลสไตน์และฟินิเซีย เพาะมีอาณาเขตกว้างมากขึ้น สมัยนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “สมัยจักรพรรดิ” (Empire) แต่ในช่วงหลังๆ อำนาจการปกครองจากส่วนกลางค่อยลดลง เหล่าขุนนางที่ปกครองเมืองที่หางไกลก็เริ่มแข็งขืนต่ออำนาจมากขึ้นจนถึงประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์ก็พ่ายแพ้ต่อชาวอัสซีเรียน และเมื่ออาณาจักรเปอร์เซียได้เข้ายึดครองเมโสโปเตเมีย อียิปต์ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของเปอร์เซีย และประมาณ 332 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนอารยธรรมทั้งเมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย และอียิปต์ก็ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช


อารยธรรมของอียิปต์ได้สร้างมรกดมากมายหลายด้านแก่โลก การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของชาวอียิปต์โบราณนอกจากการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากความโหดร้ายของธรรมชาติยังได้รับแรงผลักดันจากความคิดความเชื่อทางศาสนาและชีวิตหลังความตายอีกด้วย ชาวอียิปต์ยอมรับนับถือเทพเจ้ามากมาย ในแต่ละชุมชนมีวัดหรือวิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา บูชาเทพเจ้าและดวงวิญญาณของฟาโรห์ ชาวอียิปต์นับถือเทพแทบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหมาใน จระเข้ ฮิปโปโปเตมัส แมว แมลงเต่าทอง และในเวลาต่อมาการบูชาสัตว์ได้เปลี่ยนเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ และเป็นคนโดยสมบูรณ์ เช่นการนับถือดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ และเทพเจ้าที่สำคัญที่มีรูปร่างเป็นมนุษย์ซึ่งชาวอียิปต์ให้ความนับถือ คือ โอซิริส (Osiris) ถือว่าเป็นเทพเจ้าที่มีความอมตะ เป็นประมุขแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย และเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และความตาย เทพเจ้าเร (Re) เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ผู้ประทานชีวิต

นอกจากนั้นแล้วยังนิยมบูชาพระเครื่องและตะกรุดเป็นเครื่องรางของขลัง จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หยั่งรากลึกและเจริญเติบโตอยู่ในชีวิตและจิตวิญญาณของคนอียิปต์อย่างแท้จริง ความเชื่อที่โดดเด่นพิเศษของชาวอียิปต์อีกประการหนึ่ง คือ ความเชื่อในโลกหน้าหรือความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่สำคัญยิ่งในการก่อสร้างปิรามิดและการทำมัมมี่



เทพโอซิริส



มัมมี่



เทพที่มีรูปครึ่งคนครึ่งสัตว์


ชาวอียิปต์เชื่อว่า วิญญาณเป็นอมตะ เรียกว่า Ka มาจากเทพสูงสุดเป็นคนสร้างวิญญาณให้มนุษย์ เพราะว่าวิญญาณเป็นอมตะจึงต้องสร้างปิรามิดเพื่อเก็บมัมมี่ เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายกลับมาสู่ร่างเดิมได้ การสร้างปิรามิดในยุคแรกนั้น เป็นเนินหลุมฝังธรรมดา เรียกว่า “มาสตาบา” (Mastabas) แปลว่า ม้านั่ง ในภาษาอารบิก ภายในลึกลงไปใต้ดินจะมีห้องหลายห้องสำหรับไว้เก็บศพหรือมัมมี่และสิ่งของผู้ตาย ถัดมาจึงทำเป็นปิรามิดขนาดใหญ่มีทั้งรูปแบบที่เป็นปิรามิดแบบขั้นบันได ต่อจากนั้นมีการสร้างปิรามิดที่มีด้านแต่ละด้านเรียบลาดเทลงมายังฐานสี่เหลี่ยม เรียกว่า “ปิรามิดหลวง” (Royal Pyramids) เช่น ปิรามิด 3 องค์แห่งเมืองกีซา และระยะหลังนอกจากการสร้างปิรามิดแล้วยังมีการสร้างวิหารสำหรับบูชาเทพเจ้า เช่นในยุคราชวงศ์กลางมีการเน้นเรื่องเทพเจ้ามากขึ้น จึงมีการสร้างวิหารถวายเทพเจ้า ส่วนมัมมี่ของฟาโรห์ก็มีการเก็บไว้ในภูเขาหิน หรือที่เรียกว่า “หุบเขากษัตริย์” ต่อมาในยุคราชวงศ์ใหม่มีการสร้างวิหารขึ้นอีก 2 แห่ง คือ วิหารสำหรับทำพิธีพระศพของฟาโรห์วิหารถวายเทพเจ้า เช่นวิหารของพระนางฮัทเซพสุต (Queen Hatshepsut) และวิหารคาร์นัค (Karnak)



มาสตาบา ปิรามิดแบบขั้นบันได



ปิรามิดแห่งกีซา



วิหาร



ฟาโรห์ฮัทเซพสุต



วิหารแห่งคาร์นัค


การสร้างปีรามิดของชาวอียิปต์สะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายและความเป็นอมตะของวิญญาณ ถ้าตายแล้วจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปและยังมีความเกี่ยวข้องกับร่างเดิมอยู่ จึงมีแนวความคิดในการรักษาร่างเดิมไว้ โดยการทำมัมมี่ นอกจากความเชื่อในเทพเจ้าและการหมกมุ่นอยู่กับโลกหลังความตายแล้ว ยังปรากฏว่า มีพัฒนาการความคิดทางด้านปรัชญาแฝงอยู่ในความเชื่อของชาวอียิปต์ เช่นในหนังสือของผู้ตาย (The Book of Dead) ซึ่งเป็นหนังสือทางศาสนาและพิธีกรรมที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวอียิปต์มากที่สุด มีบทกวีที่ผู้ตายจะต้องกล่าวต่อเทพโอซิริส (Osiris) ว่า

“ข้าฯ ไม่ได้ทำให้ใครเจ็บปวด
ข้าฯ ไม่ได้ทำให้คนหิวโหย
ข้าฯ ไม่ได้ทำให้ใครหลั่งน้ำตา
ข้าฯ ไม่ได้ทำให้คนตาย
ข้าฯ ไม่ได้ทำให้คนต้องทุกข์ทรมาน” (ธีรยุทธ บุญมี. 2546: 31)

บทกวีนี้สะท้อนให้เห็นหลักศีลธรรมจริยธรรมของชาวอียิปต์รวมถึงหลักเมตตาธรรมและอารมณ์ความรู้สึกด้านอื่นๆ ของมนุษย์และการรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองอีกด้วย

บทกวีที่สำคัญมากของพัฒนาการทางความคิดของอียิปต์อีกบทหนึ่ง ปรากฏอยู่ในจารึกของเทพธิดา Neith ซึ่งกล่าวว่า “ข้าคือสิ่งที่เป็นอยู่และเคยเป็น และจะเป็นไป ไม่มีใครได้เปิดม่านคลุมหน้าเพื่อยลโฉมข้าได้” (I am that which is, that which was and that will be. No one has lifted my veil.) (แหล่งเดิม. หน้า 32) จารึก Neith สะท้อนให้เห็นความสนใจปรัชญาที่ละเอียด และเป็นความจริงสูงสุดซึ่งไม่สามารถใช้คำพูดหรือคำบรรยายใดอธิบายได้ นั่นอาจหมายความว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นขอบเขตของภาษาไป






#ขอบขอบคุณข้อมุลจาก http://civilizationancient.blogspot.com/


#เพื่ออนาคตของเยาวชนไทย^^


ยุคสมัยเก่าของไทย

     สมัยลพบุรี ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่พื้นที่ประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลักฐ่านสำคัญที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าอำนาจทางการเมืองของเขมรเข้ามาสู่ดินแดนไทย คือ ศาสนสถานทั้งที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน รวมทั้งศิลาจารึกต่างๆ ที่มีการระบุชื่อกษัตริย์เขมรว่าเป็นผู้สร้างหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง วัฒนธรรมเขมรที่แผ่ขยายเข้ามาทำให้สังคมเมืองในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ เช่น การก่อสร้างบ้านเมืองมีแผนผังแตกต่างไปจากเดิม คือ มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเพียงชั้นเดียวแทนที่จะสร้างเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หรือเมืองรูปวงกลม วงรี ซึ่งมีคูน้ำหลายชั้น มีระบบการชลประทานเพื่อการบริหารน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวแบบนาดำ และมี “ บาราย ” หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๘ อาณาจักรเขมรได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนไทยมากขึ้น ปรากฏโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเขมรโดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกือบทั่วภาคอีสาน ลึกเข้ามาถึงภาคกลางและภาคตะวันตก โดยภาคกลางของประเทศไทยมีเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบนี้อยู่มาก ดังนั้นในเวลาที่ผ่านมาจึงกำหนดชื่อเรียกอายุสมัยของวัฒนธรรมที่พบในประเทศไทยว่า “ สมัยลพบุรี ” หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นต้นมา อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมเขมรก็เสื่อมโทรมลงจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายลงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากการแพร่หลายเข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และเมืองในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำยมเริ่มมีความเข้มแข้งมากขึ้น สถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
อ้างอิงรูป http://www.thaigoodview.com/files/u40985/pppppp.jpg
อ้างอิงรูปภาพ http://upic.me/i/kq/vzzzz.jpg

     สมัยสุโขทัย ดินแดนในเขตลุ่มแม่น้ำยมมีชุมชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ยาวนานมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในศิลาจารึกวัดศรีชุม มีข้อความที่พอจะสรุปได้ว่าประมาณปี พ.ศ.๑๗๕๐ เมืองสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีนาวนัมถม” เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงขอมสบาดโขลญลำพงได้เข้ามายึดครองสุโขทัย ต่อมาเมื่ออำนาจเขมรที่มีเหนือแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนล่างและตอนบนเสื่อมลงในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนัมถม ได้ร่วมกันต่อสู้ขับไล่โขลญลำพงจนสามารถรวบรวมดินแดนกลับคืนมาได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๗๑๘ พ่อขุนบางกลางหาวสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทรบดินทราทิตย์” ขึ้นครองเมืองสุโขทัยซึ่งต่อมามีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาทั้งสิ้น ๑๐ พระองค์ การนับถือศาสนาของคนในสมัยสุโขทัย พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักทั้งหินยานและมหายาน นอกจากนั้นยังมีศาสนาฮินดูและความเชื่อดั้งเดิม โดยพุทธศาสนาแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์ได้รับการยอมรับมากจนเป็นศาสนาประจำอาณาจักร รองลงมาคือ การนับถือผี หรือ พระขะผุงผี อันถือว่าเป็นผีที่ยิ่งใหญ่มากกว่าผีทั้งหลายในเมืองสุโขทัย นิกายมหายาน และศาสนาฮินดู ตามลำดับในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมาก มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการวางรากฐานอารยธรรมไทย คือ การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งได้ทรงนำแบบแผนของตัวหนังสืออินเดียฝ่ายใต้ โดยเฉพาะตัวอักษรคฤหณ์มาเป็นหลักในการประดิษฐ์ตัวอักษร โดยทรงพิจารณาเทียบเคียงกับตัวอักษรของเขมรและมอญ ศิลปกรรมในสมัยสุโขทัยที่โดดเด่นมากที่สุดได้แก่ งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปซึ่งมีรูปแบบที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริง ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปของสุโขทัยรุ่งเรืองและสวยงามมากในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระศรีศากยมุนี และพระพุทธชินสีห์ เป็นต้น งานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสมัยสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่สำคัญๆ ในเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลงจากการแย่งชิงการสืบทอดอำนาจการปกครอง ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเมืองที่เข้มแข็งขึ้นในเขตภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขยายอำนาจขึ้นมา จวบจนปี พ.ศ.๑๙๒๑ รัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา สุโขทัยจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา โดยมีกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชปกครองมาจนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๑ จึงหมดสิ้นราชวงศ์

       สมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ “ พระเจ้าอู่ทอง ” ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลางเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสรรคบุรี เป็นต้น แล้วสถาปนาเมืองพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางอันมีแม่น้ำสำคัญสามสายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งรับข้าศึกศัตรู และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว กรุงศรีอยุธยาดำรงฐานะราชธานีของไทย เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง การค้า และศิลปวัฒนธรรมในดินแดนลุ่มเจ้าพระยายาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๐๑ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจึงได้ถูกทำลายลงในระหว่างสงครามกับพม่า สังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสังคมศักดินา ฐานะของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน “ เทวราชา ” เป็นสมมติเทพ มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมในระบบ “ เจ้าขุนมูลนาย ” ทำให้เกิดความแตกต่างของฐานะบุคคลอย่างชัดเจน รวมถึงพระสงฆ์ก็มีการกำหนดศักดินาขึ้นเช่นเดียวกัน ในการปกครองถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยจะทรงแบ่งอาณาเขตออกเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้วทรงมอบหมายให้ขุนนางไปครองที่ดินรวมทั้งปกครองผู้คนที่อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้นด้วย ดังนั้นที่ดินและผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง พระมหากษัตริย์ทรงผูกขาดการค้าขายสินค้าในระบบพระคลังสินค้า สิ่งของต้องห้ามบางชนิดที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรสามัญธรรมดาไม่สามารถจะมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ จะต้องส่งมอบหรือขายให้กับพระคลังสินค้าในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้า และหากพ่อค้าต่างชาติต้องการจะซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ต้องติดต่อโดยตรงกับพระคลังสินค้า ในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้าเช่นเดียวกัน การที่พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยทางด้านการค้าและทรงรับเอาชาวจีนที่มีความชำนาญทางด้านการค้ามาเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระคลังสินค้าของไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่า ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกไกล รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่มามาจากการเก็บภาษีโดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งไว้สำหรับเลี้ยงดูบำรุงความสุขและเป็นบำเหน็จตอบแทนพวกขุนนางและเจ้านายซึ่งเป็นผู้ปกครอง ส่วนที่เหลือก็อาจจะใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมารุกราน หรืออาจจะใช้สำหรับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นต้น ส่วนการทำนุบำรุงท้องถิ่น เช่น การขุดคลอง การสร้างถนน การสร้างวัด ก็มักจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานจากไพร่ทั้งสิ้น ในด้านศิลปกรรม ช่างฝีมือในสมัยอยุธยาได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้น โดยการผสมผสานวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ศิลปะลพบุรี ศิลปะอู่ทอง และศิลปะจากชาติต่างๆ เช่น จีนและชาติตะวันตก ทำให้เกิดรูปแบบ “ ศิลปะอยุธยา ” ขึ้น ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงปราสาทราชวังโบราณในสมัยอยุธยา อันปรากฏเด่นชัดอยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

        สมัยธนบุรี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ราษฎรไทยที่เหลือรอดจากการถูกกวาดต้อนตามเขตแขวงรอบๆ พระนครต่างก็ซ่องสุมผู้คน เข้ารบราฆ่าฟันเพื่อป้องกันตนเองและแย่งชิงเสบียงอาหารเพื่อความอยู่รอด กรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพจลาจล บ้านเมืองแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า มีชุมนุมที่คิดจะรวบรวมผู้คนเพื่อกอบกู้เอกราชถึง ๖ ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมสุกี้พระนายกอง ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระเจ้าตาก ซึ่งต่อมาชุมนุมพระเจ้าตากสินเป็นกลุ่มกำลังสำคัญที่มีที่สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ โดยตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกขับพม่าออกไปได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯให้ ปรับปรุงเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมวิไชเยนทร์สถาปนาขึ้นเป็นราชธานี โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับและศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการและชัยภูมิที่ดีทางยุทธศาสตร์ ขนาดของเมืองพอเหมาะกับกำลังไพร่พลและราษฎรในขณะนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมสมัยธนบุรียังคงดำเนินรอยตามรูปแบบของอยุธยา ฐานะของพระมหากษัตริย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังยึดขัตติยราชประเพณีตามแบบฉบับของกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จำเป็นที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างประเทศ ด้วยราคาแพงเพื่อบรรเทาความขาดแคลน มีผลทำให้พ่อค้าชาวต่างประเทศบรรทุกข้าวสารลงเรือสำเภาเข้ามาค้าขายเป็นอันมาก ทำให้ราคาข้าวสารถูกลงและปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ นอกจากนั้นยังทรงใช้ให้บรรดาขุนนางข้าราชการขวนขวายทำนาปีละ ๒ ครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอแก่ความต้องการ เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั้งปวง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ในด้านการค้าชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งค้าขาย และทำมาหากินในราชอาณาจักรได้มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาณาจักรธนบุรี ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สมัยธนบุรีเป็นสมัยของการฟื้นฟูชาติบ้านเมือง ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสังฆมณฑลตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น ทรงจัดการชำระคณะสงฆ์ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลวัตร สร้างซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม แสวงหาพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมความรู้มาตั้งเป็นพระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาสปกครองสงฆ์และสั่งสอนปริยัติธรรมและภาษาไทย ส่งพระราชาคณะไปเที่ยวจัดสังฆมณฑลตามหัวเมืองเหนือ เพราะเกิดวิปริตครั้งพระเจ้าฝางตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามทั้งๆที่เป็นพระสงฆ์ และทรงรวบรวมพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ครบถ้วน ศิลปกรรมต่างๆจึงยังคงดำเนินตามแบบอยุธยา เนื่องจากระหว่างรัชกาลมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลาทำให้ช่างฝีมือไม่มีเวลาในการที่จะสร้างสรรค์งานด้านศิลปะให้ก้าวหน้าออกไปจากเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์อยู่เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี เนื่องจากทรงมีพระราชภาระกิจทั้งทางด้านการกอบกู้บ้านเมืองซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะการสงคราม และปกป้องบ้านเมืองซึ่งข้าศึกได้ยกเข้ามาตลอดรัชกาล ปลายรัชกาลได้ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงได้รับอัญเชิญให้ครองราชย์สมบัติ

       สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ โปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี การสร้างพระนครเริ่มขึ้น ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ เมื่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ” เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันจำนวน ๙ พระองค์ สภาพกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประชากรของประเทศยังคงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด สังคมความเป็นอยู่ยังคงยึดถือสืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการจัดระเบียบทางสังคมด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ผลิตสินค้าเกษตร จำพวกน้ำตาล พริกไทย และหาของป่าจำพวกไม้สัก ไม้พยุง ไม้กฤษณาและไม้ฝาง การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคและส่งออกขายเฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภคแล้วเท่านั้น เนื่องจากบ้านเมืองยังคงตกอยู่ในสภาวะสงคราม การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการทำการค้ากับประเทศจีน อยู่ภายใต้ความควบคุมของพระมหากษัตริย์โดยมีกรมพระคลังสินค้าเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการค้า ต่อมามีการเซ็นสัญญาบาวริงในปี พ.ศ.๒๓๙๘ การผูกขาดทางการค้าถูกทำลาย ระบบการค้าเสรีเริ่มเกิดขึ้นและขยายกว้างขวางออกไปทำให้การค้าขายเจริญมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อซื้อขายกับไทยอย่างมากมาย เช่น อังกฤษซึ่งเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ปรัสเซีย สวีเดน รุสเซีย เป็นต้น ข้าว ได้กลายเป็นสินค้าสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆรวมถึงสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านสังคมในปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคม เป็นสังคมระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางด้านกฎหมาย ในด้านการศาสนาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว วัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนาถูกทำลายเสียหายเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ทำนุบำรุงพระศาสนา โปรดฯให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระนคร แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทร์มาประดิษฐานเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและให้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรม ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ยังคงใช้แบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรโดยนับเป็นข้าราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ คือ คณะเหนอ คณะใต้ คณะกลางและคณะอรัญวาสี เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย ได้ทรงประกาศประดิษฐานนิกายธรรมยุติขึ้นในพุทธศาสนาศิลปกรรมในด้านต่างๆ ยังคงเลียนแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างพระพุทธรูปส่วนมากสร้างขึ้นตามแบบพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มากขึ้น และมักสร้างเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย์และสาวกที่ครองผ้าอุตราสงค์เป็นลายดอก ส่วนสถาปัตยกรรมในตอนแรกยังคงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงนิยมศิลปะแบบจีนทำให้เกิดศิลปะผสมผสานระหว่างไทยจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา อิทธิพลของชาติตะวันตกได้เข้ามาสู่ประเทศไทยทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมกลายเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://zeeprae.wordpress.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/

#เพื่อความรู้ของเยาวชนไทย ^^
ยุคสมัยประวัติศาสตร์เริ่มต้นของโลก เริ่มที่...เมโสโปเตเมีย


อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

- กำเนิดในลุ่มแม่น้ำสองสาย คือ ไทกริสและยูเฟรติส เป็นแหล่งอารยธรรมแรกของโลก เมื่อประมาณ 3500 ปี ก่อนค.ศ. เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ท่ามกลางดินแดนทะเลทรายและภูเขา (ปัจจุบันได้แก่ประเทศอิรัก)
- บริเวณที่ราบที่แม่น้ำทั้งสองสายบรรจบกันและไหลลงสู่ทะเล อ่าวเปอร์เซีย เรียกว่า “บาบิโลเนีย”
- โดยเหตุนี้ ทำให้มีชนหลายกลุ่มหลายเผ่าผลัดกันมาตั้งถิ่นฐาน และมีอำนาจในดินแดนแถบนี้

3500 BC.
ชนเผ่าสุเมเรียน Sumerian
- เป็นชนเผ่าแรกที่เข้าครอบครอง และทำการก่อสร้างระบบชลประทานเป็นชาติแรก
- สังคมของสุเมเรียนยกย่อง เกรงกลัวเทพเจ้า นิยมก่อสร้างศาสนสถานเรียกว่า “ซิกกูแรต” สร้างด้วยอิฐตากแห้ง
- ชาวสุเมเรียน เป็นกลุ่มแรกที่ประดิษฐ์อักษร ได้แก่ อักษรลิ่ม หรือ “คูนิฟอร์ม” cuneiform นักประวัติศาสตร์จึงนับเอาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งยุคประวัติศาสตร์
- “กิลกาเมซ” Epic of Gilgamesh เป็นมหากาพย์ ที่ถูกแต่งขึ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมโลก
- มีความเจริญทางด้านคณิตศาสตร์ ปฏิทิน และการชั่ง ตวง วัด
2000 BC.
ชนเผ่าอามอไรต์ Amorite
- หลังจากสุเมเรียนเสื่อมอำนาจ ชาวอามอไรต์ Amorite ได้ตั้ง อาณาจักรบาบิโลเนีย Babylonia ขึ้นมา การปกครองแบบรวมศูนย์ การจัดเก็บภาษี การเกณฑ์ทหาร
- สมัยพระเจ้าฮัมมูราบี ( 1792-1745 B.C.) ได้มี “ประมวลกฎหมายฮัมมุราบี” เป็นลายลักษณ์อักษร จารึกแผ่นศิลา ยึดถือหลัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการลงโทษ
ชนเผ่าฮิตไทต์ Hittite
- เข้ายึดครองแทนในดินแดนแถบนี้ เมื่อ 1590 B.C.
ชนเผ่าคัสไซต์ Kassite
- อพยพมาจาก เทือกเขาซากรอส เข้าครอบครองต่อ และมีอายุยาวนานต่อเนื่องกว่า 400 ปี



800 B.C.
ชนเผ่าอัสซีเรีย
- พวกอัสซีเรียน ได้เข้ายึดครองกรุงบาบิโลน มีศูนย์กลางที่ นิเนเวห์ ตั้งจักรวรรดิอัสซีเรีย Assyrian
- สมัยพระเจ้าอัสชูร์บานิปาล 668-629 B.C. อัสซีเรียมีความเจริญขีดสุด
612 B.C
ชนเผ่าคาลเดีย
. เผ่าคาลเดียน Chaldean เข้ายึดครองนิเนเวห์สำเร็จ สถาปนากรุงบาบิโลนขึ้นใหม่
- สมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ 605-562 B.C. สามารถตีเยรูซาเลม และกวาดต้นเชลยมาเป็นจำนวนมาก ได้สร้าง “สวนลอยแห่งบาบิโลน” Hanging Gardens of Babylon
- ชาวคาลเดียน เป็นชาติแรกที่นำเอาความรู้ด้านดาราศาสตร์มาพยากรณ์โชคชะตามนุษย์ และยังสามารถคำนวณด้านดาราศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ





539 B.C.
พระเจ้าไซรัสมหาราช แห่งเปอร์เซีย
เข้ายึดครอง และผนวกเข้ากับจักรวรรดิ์เปอร์เซีย ทำให้ประวัติศาสตร์แถบเมโสโปเตเมียสิ้นสุดลง
ชนชาติอื่นในเอเชียไมเนอร์
ได้แก่ ดินแดนที่อยู่ระหว่าง ทะเลดำ กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ปาเลสไตน์ ตุรกี ซีเรีย)
1. ฟินิเชียน • 1300-1000 B.C.

เชี่ยวชาญในการเดินเรือทะเล มีเมืองท่าคือ ไทร์ และไซดอน ค้าขายจนถึงตอนเหนือแอฟริกา (เมืองคาร์เทจ Carthage)
จากการเปิดกว้างของวัฒนธรรม ทำให้ชาวฟินิเชียนดัดแปลงตัวอักษร เฮียราติก และคูนิฟอร์ม มาเป็น “อัลฟาเบต” Alphabet ต่อมากลายเป็นต้นแบบของภาษากรีก ละติน ชาติ

ตะวันตก และตะวันออก อื่น ๆ ด้วย




2. ฮีบรู 1400 B.C
• เรียกอีกชื่อว่า “ยิว” เร่ร่อนในทะเลทราย . ถูกจับเป็นทาสที่อียิปต์ ต่อมา “โมเสส” เป็นผู้ช่วยปลดแอก แล้วอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ปาเลสไตน์ Canaan
• เนื่องจากเป็นชาติที่ไม่เข้มแข็งเรื่องการทหาร จึงถูกชนเผ่าอื่นครอบครองซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดเป็นประเทศอิสระ ชื่อว่า “อิสราเอล”
• มรดกตกทอดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้แก่ “คัมภีร์ไบเบิ้ล” ถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของโลก รวมไปจนถึงการเป็นต้นกำเนินศาสนาคริสต์ และอิสลาม


อารยธรรมเมโสโปเตเมีย 
คำว่า เมโสโปเตเมีย เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า Mesos เท่ากับภาษาอังกฤษว่า Middle และคำว่า Potamos เท่ากับภาษาอังกฤษว่า River รวมความแล้วหมายถึง “ดินแดนระหว่างแม่น้ำ” (land between the rivers) ได้แก่ที่ราบระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) ทางตะวันออก และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ทางตะวันตก พื้นที่นี้ตั้งอยู่ทางทิสตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียในบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอปริกา โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งหันออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นจุดเชื่อมโยงติดต่อกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ พื้นที่ของแหล่งอารยธรรมทั้งหมดจะกินอาณาบริเวณจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปสู่อ่าวเปอร์เซีย มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยวจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์” ครอบคลุมดินแดนบางส่วนในประเทศอิรักและซีเรียในปัจจุบัน ถือเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่แห่งแรก เมื่อราว 3,500 ปี ก่อนคริสตกาล
จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมโสโปเตเมีย เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีการทับถมของดินตะกอนตามชายฝั่งแม่น้ำทั้งสอง ทำให้บริเวณแถบนี้อุดมสมบูรณ์และมีสภาพเหมาะสมแก่การเพาะปลูก แม้ว่าสภาพอากาศในดินแดนแถบนี้จะแปรปรวนไม่จนสามารถคาดเดาได้ก็ตาม เกิดความแห้งแล้งลำน้ำท่วมเป็นประจำ อันเป็นเหตุให้การควบคุมน้ำหรือการชลประทานสำคัญจำเป็นต่อการทำกสิกรรมของผู้คนแถบนี้ นอกจากนั้นแล้ว ทางบกยังติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อมต่ออียิปต์และอารยธรรมที่กำลังก่อตัวในยุโรปได้ทางตอนใต้ก็ยังเปิดสู่อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเออำนวยต่อการขนส่งค้าขายทางทะเลกับอารยธรรมที่ห่างไกล เช่น สินธุ ลักษณะเช่นนี้เอง ทำให้ดินแดนเมโสโปเตเมียแห่งนี้ เป็นที่หมายปองของชนกลุ่มต่างๆ


แผนที่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย


ช่วงประมาณ 4000 ปีก่อนคริสตกาลลงมาพบว่า มนุษย์ที่เมโสโปเตเมียเริ่มเรียนรู้การใช้โลหะทองแดง และพบหลักฐานความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น ถัดมาประมาณ 3600-2800 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคอูรุก (Uruk) ถือเป็นการเริ่มต้นอารยธรรมเมืองในลักษณะนคร-รัฐ (city-state) และที่นี้มีวิหารสองแห่ง คือ วิหารสำหรับบูชาเทพอาทิตย์และวิหารสำหรับบูชาเทพอินันนา (Inanna) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์

เทพี Inanna
เทพในช่วงนี้ของเมโสโปเตเมียมีหลายองค์ เช่น วัวกระทิง ซึ่งมีความหมายถึงสวรรค์ Enlil เป็นเทพของสายฟ้าหรือดินฟ้าอากาศ Ea เป็นเทพแห่งน้ำและมีการสร้างวิหารที่เรียกว่า “ซิกกูแรต” (Ziggurat) หมายถึง ห้องรอคอยเพื่อบูชาหรือพบพระเจ้า สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถานที่ติดต่อหรือเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์

ซิกกูแรต
ช่วงประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล คนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้นคือชาวสุเมเรียน ผู้คิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก อารยธรรมที่ชาวสุเมเรียนขึ้นเป็นพื้นฐานสำคัญของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย สถาปัตยกรรม ตัวอักษร ศิลปกรรมอื่นๆ ตลอดจนทัศนคติต่อชีวิตและเทพเจ้าของชาวสุเมเรียน ได้ดำรงอยู่และมีอิทธิพลอยู่ในลุ่มแม่น้ำทั้งสองตลอดช่วงสมัยโบราณ

ลักษณะสังคมของชาวสุเมเรียนเป็นอารยธรรมแบบเมือง ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพ เช่น ชาวนา ช่างโลหะ ช่างทอง พระ ขุนนางและผู้ปกครองหรือกษัตริย์ ชาวสุเมเรียนมีการปกครองแบบรัฐศาสนา คือมีนักบวช ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อแล้ว ยังเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอีก เช่น การจักสรรน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตร การแลกเปลี่ยนค้าขาย ธนาคาร เป็นต้น นักบวชและวัดในสมัยนี้จึงมีบทบาทสำคัญมาก
มรดกชิ้นสำคัญซึ่งชาวสุเมเรียนได้สร้างไว้ คือ การประดิษฐ์อักษรใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ไม้หรือโลหะแหลมจารลงบนแผ่นดินเหนียวโดยพัฒนาจากตราประทับทรงกระบอกที่เป็นอักษรภาพง่ายๆ เวลาใช้ต้องนำกระบอกกลิ้งหมุนบนแผ่นดินเหนียว เป็นจุดกำเนิดของตัวอักษรครั้งแรกจนกลายเป็นอักษรรูปลิ่ม และผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นต้นตอของตัวอักษรกรีก และละติน

อักษรรูปลิ่ม
จากความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองของชาวเมโสโปเตเมียได้ดึงดูดกลุ่มชนอัคคาเดียน ซึ่งเป็นกลุ่มของพวก Semite และบรรพบุรุษของชาวยิว Hebrew ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรอารเบีย (Arabia) ได้แทรกซึมเข้ามาในดินแดนของชาวสุเมเรียนและได้ยึดครองเมโสโปเตเมีย ประมาณปี 2,360 ก่อนคริสตกาล ชาวอัคคาเดียนได้ปกครองดินแดนเมโสโปเตเมียอยู่ประมาณ 200 ปี กษัตริย์ที่สำคัญของอัคคาเดียนคือ พระเจ้าซาร์กอน (Sargon) ได้รวบรวมนครรัฐของสุเมเรียนทั้งหมด การรวมครั้งนี้มีผลให้อารยธรรมของพวกสุเมเรียนจากตอนล่างของลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ได้ขยายขึ้นเหนืออย่างกว้างขวาง ผลจากการครอบครองสุเมเรียนของชาวอัคคาเดียนทำให้เทพเจ้าของพวกเขาที่ชื่อว่า “มาร์ดุก” (Marduk) เข้ามาเป็นเทพเจ้าสูงสุดแทนที่เทพ Enlil เดิม

เทพเจ้ามาร์ดุก
ชนชาติถัดมาที่เข้ายึดครองดินแดนเมโสโปเตเมียคือ ชาวบาบิโลน ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองยูรุก (Uruk) ใกล้แม่น้ำยูเฟรตีส ในสมัยนี้มีกษัตริย์ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ฮัมมูราบี” เป็นผู้สร้างความยิ่งใหญ่และความเจริญแก่ดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติกฎหมายบังคับใช้ในดินแดนของพระองค์ เรียกว่า “ประมวลกฎหมายแห่งฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) กฎหมายนี้มีลักษณะการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมคน แทนการใช้จารีตประเพณีและความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้า

รูปแท่นหินจารึกกฎหมายฮัมมูราบ
หลังจากกษัตริย์ฮัมมูราบีสิ้นอำนาจลง ก็มีชนเผ่าหลายชนเผ่า ได้แก่ ชาวฮิตไตท์ (Hitties) ชาวแคสไซส์ (Kassites) ชาวอีลาไมล์ (Elamites) และชาวอัสซีเรียน (Assyrians) แต่ชาวอัสซีเรียนถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีบทบาทในการสร้างอารยธรรมอย่างโดดเด่น โดยในช่วงแรกได้ย้ายเมืองจากหลวงจากกรุบาบิโลนมาตั้งที่เมืองอัสซูร์ (Assur) ซึ้งตั้งอยู่บนริมฝั่งตอนกลางของแม่น้ำไทกริส และได้ครองอำนาจถึงขีดสุดระหว่าง 712-612 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอัสซีเรียนได้ขยายอำนาจการปกครองครอบคลุมไปถึงซีเรียน ปาเลสไตน์ และบางส่วนของอียิปต์

จากอำนาจและบทบาททางอารยธรรมของชาวอัสซีเรียนทำให้เทพอสูร (Assur) ซึ่งเป็นเทพประจำเมืองอัสซูร์ ได้รับการยอมรับนับถืออย่ากว้างขวางและมีความสำคัญเท่ากับเทพมาร์ดุก (Marduk) ซึ่งเป็นเทพเจ้าของชาวอัคคาเดียนเดิม และได้ขยายอิทธิพลความเชื่อต่ออารยธรรมอื่นๆ เช่น เปอร์เซีย และอินเดีย แต่ด้วยความโหดร้ายของชาวอัสซูร์ทำให้ประชาชนต่อต้านและเสื่อมอำนาจลงในที่สุด ทำให้บทบาทของอสูรเทพของชาวอัสซีเรียนลดบทบาทลงและเสื่อมคลายไปจนกลายเป็นตัวร้ายในนิทาน แนวความคิดเรื่องอสูรเทพนี้มีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทย เพราะวรรณคดีไทยหลายเรื่องได้รับแนวคิดมาจากอารยธรรมอินเดียอีกทอดหนึ่ง

ต่อมาเมื่อชาวอัสซีเรียนพ่ายแพ้สงครามต่อชาวเมเดสและชาวเมืองบาบิโลน อำนาจการปกครองจึงเปลี่ยนไปและเริ่มต้นยุคใหม่ เรียกยุคนี้ว่า “ยุคบาบิโลนใหม่” หรือ “นีโอบาบิโลน” (Neo Babylon) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเนบุชัดเนซซาร์ที่สอง (Nebuchadnessar II) กษัตริย์พระองค์นี้ถือว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ พระองค์ได้ยกทัพไปรบชนะชาวยิวยึดครองนครเยรูซาเล็ม ได้เชลยชาวยิวมาเป็นแรงงาน ในยุคของพระองค์ได้มีการก่อสร้างวิหารและพระราชวังหลายแห่ง และผลงานทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญและถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดแห่งของโลกสมัยโบราณคือ “สวนลอยแห่งเมืองบาบิโลน” (The hanging gardens of Babylon) ซึ่งเป็นสวนที่มีถนนกว้างปูลาดด้วยแผ่นหินและลาดด้วยยางมะตอย เพื่อให้เป็นเส้นทางของขบวนแห่เฉลิมฉลองเทพมาร์ดุก (Marduk) ซึ่งกลับมามีบทบาทสำคัญต่อชาวเมืองบาบิโลนอีกครั้ง

ภาพวาดสวนลอยบาบิโลน

สิงห์โตแห่งบาบิโลน

ซากสวนลอยแห่งบาบิโลน

กำแพงแห่งสวนลอยบาบิโลน


จักรวรรดิบาบิโลนใหม่ รุ่งเรืองจนถึงประมาณ 539 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรบาบิโลนก้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus, the Great) ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย ดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งรุ่งเรืองผ่านการปกครองและอารยธรรมชนเผ่าต่างๆ มายาวนาน ก็สิ้นสุดลงในที่สุด


อารยธรรมเมโสโปเตเมียได้พัฒนาขึ้นถึงขีดสุดผ่านกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาครอบครองและผสมผสานความคิดความเชื่อของตนเองกับชนเผ่าต่างๆ ชีวิตของชาวเมโสโปเตเมียผูกพันกับพระและวัดอย่างมาก ชาวสุเมเรียนซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาครอบครองดินแดนเมโสโปเตเมีย มีลักษณะความเชื่อในเทพเจ้าและโลกหลังความตายเป็นหลัก และมีการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งเทพเจ้าแต่ละองค์ก็มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตให้คุณและโทษแก่ตนเอง เช่น อูโต เทพแห่งดวงอาทิตย์ อินันนา เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และความรัก อินลิล เทพแห่งสายฟ้า หรือดิน ฟ้า อากาศ เป็นต้น นอกจากการนับถือเทพเจ้าแล้วแล้ว ชาวสุเมเรียนยังเชื่อในไสยศาสตร์ นับถือโชคลางและปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกด้วย ผู้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารระหว่างชุมชนกับเทพเจ้าคือ พระ โดยผ่านการทำพิธีกรรม เช่นการจัดหารอาหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างที่พำนักให้แก่เทพเจ้า และมีเทพเจ้าหลายองค์ที่กลายเป็นเทพเจ้าประจำรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับนับถือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ด้วย

พัฒนาการทางความคิดที่สำคัญของชาวสุเมเรียนอีกประการหนึ่ง คือ การรู้จักการคูณ การหาร ระบบหน่วยหกสิบ ได้แก่ 6, 60, 600, 3,600 ซึ่งปัจจุบันใช้กับการนับเวลาและการคำนวณวงกลม นอกจากนี้ยังได้คิดระบบชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นรากฐานที่มาของการชั่งที่คิดน้ำหนักเป็นปอนด์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนชาวคาลเดียนสามารถคำนวณวันเกิดสุริยปราคาและจันทรุปราคา รวมทั้งสามารถจัดแบ่งสัปดาห์ออกเป็น 7 วัน

#ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://sites.google.com/site/phensirikm/neuxha-bth-reiyn/xandab-thi-3
#เพื่ออนาคตของเยาวชนไทย^^

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

        ที่มาของศักราชและวิธีการเทียบศักราช
  การศึกษาประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก นักประวัติศาสตร์จึงได้แบ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคสมัยของมิติเวลา ดังนี้
การนับศักราช
การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีการระบุเวลาเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นๆ โดยระบุเป็นปีศักราช จุดเริ่มต้นของศักราชที่ ๑ จะเริ่มนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของศักราชต่างๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้ทราบว่าในปีนั้นๆ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง การนับปีศักราชนับว่าเป็น ภูมิปัญญาของมนุษย์สมัยโบราณ ศักราชมีทั้งแบบสากลและแบบไทย ดังนี้

. การนับปีศักราชแบบสากล
               ๑.๑ คริสต์ศักราช หรือ ค.ศ. โดยใช้เหตุการณ์สำคัญทางคริสต์ศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูประสูติเป็นปี ค.ศ. ๑ สำหรับช่วงเวลาก่อนพระเยซูประสูติให้เรียกเป็น ก่อนคริสต์ศักราช (ก่อน ค.ศ. หรือ B.C = Before Christ)
               ๑.๒ ฮิจเราะห์ศักราช หรือ ฮ.ศ. ฮิจเราะห์มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า การอพยพ   เป็นการนับศักราชในประเทศที่มีการนับถือศาสนาอิสลามโดยเริ่มนับ ฮ.ศ. ๑ เมื่อท่านนบีมูฮัมหมัดนำเหล่าสาวกอพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองเมดินา ตรงกับพุทธศักราช ๑๑๖๕ หากจะเทียบ ปีฮิจเราะห์ศักราชเป็นปีพุทธศักราช จะต้องบวกด้วย ๑๑๒๒ เพราะการเทียบรอบปีของฮิจเราะห์ศักราชและพุทธศักราช จะมีความคลาดเคลื่อนทุก ๆ ๓๒ ปีครึ่งของฮิจเราะห์ศักราชจะเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปี เมื่อเทียบกับพุทธศักราช

. การนับศักราชแบบไทย
     ๒.๑ พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชที่นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และใช้กันอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๕ แทนรัตนโกสินทร์ศก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศไทยเริ่มนับ พ.ศ. ๑ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ ๑ ปี เป็น พ.ศ. ๑
     ๒.๒ มหาศักราช (ม.ศ.) นิยมใช้มากในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทศิลาจารึกและพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาตอนต้น มหาศักราชถูกตั้งขึ้นโดยพระเจ้า กนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์ผู้ครองอินเดีย โดยเริ่มภายหลังพุทธศักราช ๖๒๒ (มหาศักราชตรงกับ พ.ศ. ๖๒๒)
     ๒.๓ จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นศักราชที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า โดยพระมหากษัตริย์ของพุกาม เริ่มใช้นับครั้งแรกในพม่า พ.ศ. ๑๑๘๒ และใช้แพร่หลายเข้าสู่อาณาจักรล้านนา โดยเริ่มภายหลังพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปี ไทยนิยมใช้จุลศักราชในการคำนวณทางโหราศาสตร์ ใช้บอกปีในจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ พงศาวดาร จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศยกเลิก และมีการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) แทน
      ๒.๔ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงกำหนดใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ โดยเริ่มนับปีที่ได้มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็น ร.ศ. ๑ และได้ประกาศยกเลิกใช้ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

         ๓. การเทียบศักราช
             การนับศักราชที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและสากล ดังนั้น การเทียบศักราชให้เป็นแบบเดียวกัน จะช่วยให้สามารถศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้เข้าใจมากขึ้น  ตลอดจนทำให้ทราบถึงช่วงศักราชหรือช่วงเวลาเดียวกัน ในแต่ละภูมิภาคของโลกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ศึกษาอย่างแท้จริง  จึงต้องมีการเทียบศักราช จากศักราชหนึ่งไปยังอีกศักราชหนึ่ง โดยคำนวณจากศักราชทั้งสองมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันอยู่กี่ปี  แล้วนำไปบวกหรือลบแล้แต่กรณี
 หลักเกณฑ์การเทียบศักราช โดยคำนวณหาเกณฑ์บวกลบเฉพาะพุทธศักราช (พ.ศ.) มีดังนี้
               พุทธศักราช          มากกว่า         คริสต์ศักราช              ๕๔๓    ปี
               พุทธศักราช          มากกว่า         มหาศักราช                ๖๒๑    ปี
               พุทธศักราช          มากกว่า         จุลศักราช                ๑,๑๘๑   ปี
               พุทธศักราช          มากกว่า         รัตนโกสินทร์ศก         ๒,๓๒๔   ปี
               พุทธศักราช          มากกว่า         ฮิจเราะห์ศักราช         ๑,๑๒๒   ปี
           การเทียบศักราชในระบบต่างๆ สามารถนำมาเปรียบเทียบให้เป็นศักราชแบบเดียวกัน ได้ดังนี้
               ม.ศ. + ๖๒๑       =       พ.ศ.      พ.ศ. ๖๒๑        =          ม.ศ.
               จ.ศ. + ๑๑๘๑     =       พ.ศ.      พ.ศ. ๑๑๘๑      =          จ.ศ.
               ร.ศ. + ๒๓๒๔     =       พ.ศ.      พ.ศ. ๒๓๒๔       =          ร.ศ.
               ค.ศ. + ๕๔๓       =       พ.ศ.      พ.ศ. ๕๔๓         =          ค.ศ.
               ฮ.ศ. + ๑๑๒๒     =       พ.ศ.      พ.ศ. ๑๑๒๒       =          ฮ.ศ.
  จากพุทธศักราชเปลี่ยนเป็นคริสต์ศักราช  ให้นำ พ.ศ. ลบ ๕๔๓   ตัวอย่างเช่น พ.ศ. ๒๕๔๙ เปลี่ยนเป็น ค.ศ. โดยนำ ๕๔๓ มาลบออก  ( ๒๕๔๙๕๔๓ ) ปี ค.ศ. ที่ได้คือ ๒๐๐๖
  จากคริสต์ศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ ค.ศ. บวก ๕๔๓   ตัวอย่างเช่น ค.ศ. ๒๐๐๔ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ ๕๔๓ มาบวก  ( ๒๐๐๔ + ๕๔๓ปี พ.ศ. ที่ได้คือ ๒๕๔๗
  จากจุลศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ จ.ศ. บวก ๑๑๘๑   ตัวอย่างเช่น จ.ศ. ๑๑๓๐ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ ๑๑๘๑ มาบวก  ( ๑๑๓๐ + ๑๑๘๑ปี พ.ศ. ที่ได้คือ ๒๓๑๑

  จากรัตนโกสินทร์ศกเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ ร.ศ. บวก ๒๓๒๔   ตัวอย่างเช่น ร.ศ. ๑๓๒ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ ๒๓๒๔ มาบวก  ( ๑๒๓ + ๒๓๒๔ปี พ.ศ. ที่ได้คือ ๒๔๕๖

การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทย

การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ตามแบบไทย
นักประวัติศาสตร์นิยมแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ตามแบบไทย  ที่มีลักษณะเป็นรูปแบบของตนเอง ดังนี้
๑. แบ่งตามสมัยหรือตามเวลาที่เริ่มมีตัวอักษร โดยแบ่งได้ ๒ สมัย ดังนี้
         ๑.๑ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง ยุคที่ยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร  แบ่งออกเป็นยุคหิน (ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่) และยุคโลหะ (ยุคสำริด ยุคเหล็ก) โดยมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยตามลำดับ
         ๑.๒ สมัยประวัติศาสตร์ หมายถึง ยุคที่มนุษย์เริ่มมีการใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ จากหลักฐานที่ค้นพบ ได้แก่ หลักศิลาจารึก
๓.๒) แบ่งยุคสมัยตามอาณาจักร ได้มีการแบ่งยุคสมัยตามอาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรทวารวดี(นครปฐม) อาณาจักรละโว้ (ลพบุรี) อาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อาณาจักรศรีวิชัย (สุราษฎร์ธานี)  อาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน)
๓.๓) แบ่งยุคสมัยตามราชธานี เป็นการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามราชธานีของไทยเรียงความลำดับ เช่น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์
๓.๔) แบ่งยุคสมัยตามพระราชวงศ์ เป็นการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามพระราชวงศ์ เช่น สมัยราชวงศ์พระร่วงของอาณาจักรสุโขทัย สมัยราชวงศ์อู่ทอง สมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ สมัยราชวงศ์สุโขทัย สมัยราชวงศ์ปราสาททอง สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดยทั้งหมดเป็นชื่อพระราชวงศ์ที่ครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์ในสมัยอยุธยา ราชวงศ์จักรี ในสมัยรัตนโกสินทร์
๓.๕) แบ่งยุคสมัยตามรัชกาล เป็นการแบ่งยุคสมัยในช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นครองราชย์อยู่ ได้แก่ รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓.๖) แบ่งยุคสมัยตามระบอบการเมืองการปกครอง ได้แก่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยประชาธิปไตย โดยถือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเส้นแบ่งยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

VDO ศึกษาเพิ่มเติม


ขอขอบคุณ 
https://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=8&cad=rja&uact=8&ved=0ahUKEwj34fCf1cbQAhWJOY8KHZo6BacQFghBMAc&url=http%3A%2F%2Fdlit.ac.th%2Fresources_ftp%2FSOCIAL%2FLessonPlans%2FS1%2F%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%25A8%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%258C_%25E0%25B8%25A11_%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B5%25E0%25B9%25881_%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B2%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%259A%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%25A8%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%258C.doc&usg=AFQjCNHK9R7fy6mz95-bxVmxQxWUjoU-Ig